เมนู

อรรถกถาทูตชาดกที่ 10


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
ภิกษุโลเลรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า ยสฺสตฺถา ทูรมายนฺติ
ดังนี้. เรื่องจักมีแจ้งในกากชาดก นวกนิบาต. ก็พระศาสดาตรัสเรียก
ภิกษุรูปนั้นมาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอเป็นผู้โลเลเหลาะแหละเฉพาะ
ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน เธอก็เป็นผู้โลเลเหลาะแหละ
ก็เพราะความเป็นผู้โลเลเหลาะแหละ เธอจวนจะถูกตัดศีรษะด้วยดาบ.
แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ใน
พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัตนั้น
พอเจริญวัยก็ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ทั้งปวงในเมืองตักกศิลา พอ-
พระชนกล่วงลับไป ก็ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ ได้เสวยโภชนะอัน
บริสุทธิ์ ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงมีพระนามว่า พระเจ้าโภชน-
สุทธิกราช. ได้ยินว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ในวิธีการเห็นปานนั้น
เสวยพระกระยาหารซึ่งมีภาชนะใบหนึ่งสิ้นเปลืองค่าถึงแสนกหาปณะ
อนึ่ง เมื่อเสวยก็ไม่เสวยภายในพระราชมณเฑียรเพราะมีพระประสงค์
จะให้มหาชนผู้ได้เห็นวิธีการเสวยของพระองค์ได้กระทำบุญ จึงให้
สร้างรัตนมณฑปที่ประตูพระราชวัง เวลาจะเสวยก็ให้ประดับประดา
รัตนมณฑปนั้น แล้วประทับนั่งบนราชบัลลังก์อันล้วนด้วยทองคำ
ภายใต้เศวตฉัตร แวดล้อมด้วยนางกษัตริย์ทั้งหลาย จึงเสวยพระ-

กระยาหารอันมีรสซึ่งมีค่าถึงแสนกหาปณะ ด้วยภาชนะทองอันมีค่า
แสนกหาปณะ.
ครั้งนั้น มีบุรุษโลเลคนหนึ่งได้เห็นวิธีเสวยพระกระยาหาร
ของพระราชานั้น อยากจะบริโภคโภชนะนั้น เมื่อไม่สามารถจะอดกลั้น
ความอยากได้ คิดว่าอุบายนี้ดี จึงนุ่งผ้าให้มั่นคงแล้วยกมือขึ้นข้างหนึ่ง
ร้องเสียงดัง ๆ ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเป็นทูต พลางเข้าไปเฝ้า
พระราชา. ก็สมัยนั้น ในชนบทนั้น ใคร ๆ ย่อมห้ามคนที่กล่าวว่า
เราเป็นทูต เพราฉะนั้น มหาชนจึงแยกออกเป็นสองฝ่ายให้โอกาส.
บุรุษผู้นั้นรีบไปคว้าเอาก้อนภัตรก้อนหนึ่งจากภาชนะทองของพระ-
ราชาใส่ปาก. ลำดับนั้น ทหารดาบชักดาบออกด้วยหมายใจจักตัดหัว
ของบุรุษนั้น. พระราชาตรัสห้ามว่า อย่าประหาร แล้วตรัสว่า
เจ้าอย่ากลัว จงบริโภคเถอะ แล้วทรงล้างพระหัตถ์ประทับนั่ง. และ
ในเวลาเสร็จสิ้นการบริโภค พระราชาให้ประทานน้ำดื่มและหมากพลู
แก่บุรุษผู้นั้นแล้วตรัสถานว่า บุรุษผู้เจริญ เจ้ากล่าวว่าเป็นทูต เจ้า
เป็นทูตของใคร. บุรุษนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์
เป็นทูตของตัณหา ตัณหาตั้งข้าพระองค์ให้เป็นทูตแล้วบังคับส่งมาว่า
เจ้าจงไป ดังนี้แล้วได้กล่าวคาถา 2 คาถาแรกว่า :-
สัตว์เหล่านี้ย่อมไปสู่ประเทศอันไกล
หวังจะขอสิ่งของตามแต่จะได้ เพื่อประโยชน์
แก่ท้องใด ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอพระองค์อย่า
ได้ทรงพิโรธแก่ข้าพระองค์เลย. อนึ่ง มาณพ
ทั้งหลาย ย่อมตกอยู่ในอำนาจของท้องใด
ทั้งกลางวันและกลางคืน ข้าพระองค์ก็เป็น
ทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
ขอพระองค์อย่าได้ทรงพิโรธแก่ข้าพระองค์
เลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสตฺถา ทูรมายนฺติ ความว่า
สัตว์เหล่านี้เป็นผู้อยู่ในอำนาจของตัณหา ย่อมไปแม้ไกล ๆ เพื่อ
ประโยชน์แก่ต้องใด. บทว่า รเถสภ ได้แก่ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็น
จอมทัพรถ.
พระราชาได้ทรงสดับคำของบุรุษนั้นแล้วทรงพระดำริว่า ข้อนี้
จริง สัตว์เหล่านี้เป็นทูตของท้อง เที่ยวไปด้วยอำนาจตัณหา และ
ตัณหาก็ย่อมจัดแจงสัตว์เหล่านี้ บุรุษผู้นี้กล่าวถ้อยคำเป็นที่ชอบใจเรา
ยิ่งนัก จึงทรงโปรดบุรุษผู้นั้น ตรัสพระคาถาที่ 3 ว่า :-
ดูก่อนพราหมณ์ เราจะให้โคสีแดง
พันตัวพร้อมทั้งโคจ่าฝูงแก่ท่าน แม้เราและ
สัตว์ทั้งมวลก็เป็นทูตของท้องทั้งสิ้น เพราะ
เราก็เป็นทูต ไฉนจะไม่ให้สิ่งของแก่ท่าน
ผู้เป็นทูตเล่า.

บทว่า พราหมณ นี้ในคาถานั้น เป็นเพียงคำร้องเรียก.
บทว่า โรหิณีนํ แปลว่า มีสีแดง. บทว่า สห ปุงฺคเวน ได้แก่
พร้อมกับโคผู้ซึ่งเป็นปริณายกจ่าฝูงผู้จะป้องกันอันตรายให้. บทว่า
มยมฺปิ ความว่า เราและสัตว์ทั้งปวงที่เหลือ ย่อมเป็นทูตของท้องนั้น
เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราเป็นทูตของต้องเสมอกันเพราะเหตุไร
จึงจะไม่ให้แก่ท่านผู้เป็นทูตของท้องเล่า.
ก็แหละครั้นตรัสอย่างนี้แล้วทรงมีพระทัยยินดีว่า บุรุษผู้เช่น
ท่านนี้แลให้เราได้ฟังเหตุที่ไม่เคยฟัง จึงได้ประทานยศใหญ่แก่บุรุษ
ผู้นั้น.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ
สัจจะประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้โลเลดำรงอยู่ในอนาคามิ-
ผล. ชนเป็นอันมากได้เป็นพระโสดาบันเป็นต้น. บุรุษผู้โลเลใน
กาลนั้น ได้เป็นภิกษุผู้เหลาะแหละในบัดนี้ ส่วนพระเจ้าโภชนสุทธิก-
ราช ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาทูตชาดกที่ 10

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ


1. สังกัปปราคชาดก 2. ติลมุฏฐิชาดก 3. มณิกัณฐชาดก
4. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก 5. สุกชาดก 6. ชรูทปานชาดก
7. คามณิจันทชาดก 8. มันธาตุราชชาดก 9. ติรีติวัจฉชาดก
10. ทูตชาดก.
จบ สังกัปปวรรคที่ 1